NUSA ผนึก ‘ธนัทเฮิร์บพาณิชย์’ ปั้น ‘มายโอโซน’ เป็นเมืองกัญชา
บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA และบริษัท ธนัทเฮิร์บ พาณิชย์ จำกัด 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ ผนึกกำลังกันเป็นพันธมิตร เพื่อสร้างเมืองสุขภาพครบวงจร ดันประเทศไทยให้เป็นฮับด้านสุขภาพของเอเชีย ภายใต้แนวคิด Post Covid Drive Medical Cannabis Tourism สร้าง Pilot Project : Big Project Medical Hub @ Health & Wellness Valley ปักหมุดพื้นที่นำร่องที่ “มายโอโซน เขาใหญ่” แหล่งโอโซนโลก ให้เป็น “มายโอโซน เขาใหญ่ @ เมืองสุขภาพกัญชาระดับเวิลด์คลาส”
โดยความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนสมุนไพร ทีเอ็นเอช, วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรไทยทุ่งทะเล โคราช, บริษัท สยาม ซีบีดี ฟาร์ม เพื่อสังคม จำกัด และ วิสาหกิจชุมชนกว่า 100 แห่ง ในการสร้างชุมชนเกษตรและร่วมพัฒนาระบบนิเวศการเชื่อมโยงเกื้อกูลเศรษฐกิจเกษตรสมัยใหม่ระดับฐานรากให้เกิดเป็นวิสาหกิจสร้างสุขภาพอันจะเป็นพื้นฐานนำไปสู่เศรษฐกิจสุขภาพและชุมชนมีความเข้มแข็งยั่งยืน ภายใต้รูปแบบการขับเคลื่อนการสร้างพื้นที่ “Cannabis Farm Valley & Contract Farming”
ขณะที่ NUSA และบริษัท ธนัทเฮิร์บ พาณิชย์ จำกัด จะให้การสนับสนุน วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่และทั่วประเทศ ยกระดับการใช้เทคโนโลยีด้านการปลูก กัญชา กัญชง กระท่อม ซึ่งเป็นพืชเสพติดให้คุณทางการแพทย์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่มและยา เครื่องสำอาง อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มที่มีมูลค่าสูง และการสร้างหน่วยผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง กระท่อม ที่ถูกกฎหมาย และการวิจัยพัฒนาเพื่อให้ได้สารสำคัญจากพืชกัญชา กัญชง ที่มีมูลค่าสูงในตลาดโลก เช่น สาร CBD, CBG และ CBN
ทั้งนี้ มีนโยบายและพันธกิจที่สำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย
1. องค์ความรู้ วิจัย ส่งเสริมและสร้างรายได้ให้เกษตรกร (Academic & Promotion) เพื่อให้การสนับสนุนและส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ได้มีความรู้ด้านการปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย และการเก็บเกี่ยวกัญชาที่ถูกหลักมาตรฐาน ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิต ตลอดจนการวิจัยพัฒนา การแปรรูป การสกัดสารสำคัญ การจัดหาแหล่งตลาดรับซื้อ การตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นการส่งเสริมอย่างครบวงจรและยั่งยืน ทั้งนี้ ได้เตรียมการจัดตั้ง “Investor & Start Up” เพื่อประสานแหล่งเงินทุนให้กับวิสาหกิจชุมชน 100 แห่ง เพื่อทำการปลูกกัญชาตามขั้นตอนของกฎหมายในรูปแบบข้อตกลงที่มีพันธะสัญญาระหว่างกัน (Contract Farming) สามารถนำผลผลิตไปจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่เป็นสมาชิก โดยมีบันทึกความเข้าใจ (MOU) และข้อตกลงความร่วมมือ (MOA) กับหน่วยงานรัฐ ในด้านการปลูกกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์ได้
2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาคุณภาพ (Product) : ส่งเสริมด้านการปลูกกัญชามาตรฐาน ทางการแพทย์ทั้งในรูปแบบโรงเรือนและฟาร์ม เพื่อนำผลผลิต “ช่อดอกกัญชา” ที่เป็นยาเสพติดให้ โทษ บริจาคให้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (DTAM) สำหรับใช้ผลิตน้ำมันกัญชา (DTAM License) เพื่อรักษาผู้ป่วยกลุ่ม SAS และสนับสนุนในส่วนของ “ใบ เปลือก ก้าน ต้น ราก” ที่ไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ ไปพัฒนาและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายให้กับกลุ่มผู้มีใบวิชาชีพ โรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกการแพทย์แผนไทย คลินิกกัญชาทางการแพทย์ และนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าอันเป็นคุณประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนคนไทย
3. การรักษาและส่งเสริมให้เกิดเป็นสถานพยาบาลด้านการรักษา (Health) จัดตั้งศูนย์ คลินิกด้านการรักษาด้วยศาสตร์ของกัญชาและสมุนไพร ด้วยรูปแบบการแพทย์ผสมผสาน การแพทย์ แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ลดความเหลื่อมล้ำด้านการรักษาให้กับผู้ป่วย และ สร้างระบบนิเวศ เชื่อมโยงกับคลินิกกัญชาทางการแพทย์ไม่น้อยกว่า 1,000 แห่ง เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน
4. การฟื้นฟูและดูแลสุขภาพ (Wellness) ทำการปักหมุดให้พื้นที่ “มาย โอโซน” แหล่งโอโซนระดับโลก เป็นศูนย์สุขภาพเวชศาสตร์กัญชาระดับเวิลด์คลาส “Medical Hub @ Health & Wellness” เพื่อดึงดูดให้กลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้ดี เดินทางมารักษาและฟื้นฟูสุขภาพในประเทศไทย และ
5. การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Cannabis Tourism Program) : กำหนดรูปแบบกลยุทธ์ให้ “มาย โอโซน” เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีจุดขายใหม่ (Magnet) เช่น เที่ยวชมฟาร์มกัญชา การเยี่ยมชม กระบวนการผลิตและแปรรูปกัญชา เป็นต้น