BEMลงทุนเพิ่มอีก275ล้าน สร้างทางเชื่อมศรีรัช-วงแหวนฯ เข้าด่วนขั้น 2
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (27 มิ.ย.) ได้มีมติเห็นชอบร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) สัญญาสัมปทานการลงทุนออกแบบก่อสร้างบริหารจัดการให้บริการและบำรุงรักษา โครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร และร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) สัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช) จำนวน 2 ฉบับ โดยมีการเพิ่มมูลค่างานก่อสร้างทางเชื่อมต่อระหว่างโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ กับทางพิเศษศรีรัชด้านทิศเหนือ (มุ่งหน้าไปทางแจ้งวัฒนะ) โดยจุดก่อสร้างอยู่บริเวณบางซื่อเหนือสถานีขนส่งผู้โดยสารสายเหนือ (หมอชิต 2) ระยะทาง 360 เมตร วงเงิน 275 ล้านบาท
ทั้งนี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ผู้รับผิดชอบโครงการจะมอบหมายให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้รับผิดชอบออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้งระบบไฟฟ้าและงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องในงานก่อสร้างทางเชื่อมต่อระหว่างทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ เข้าสู่ทางพิเศษศรีรัช โดย BEM เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด และจะไม่มีการเก็บค่าผ่านทางพิเศษเพิ่มเติม ซึ่งหลังจากนี้ กทพ.จะลงนามในสัญญากับ BEM โดยเร็วที่สุด เพราะอัยการสูงสุดได้อนุมัติร่างสัญญาแล้ว ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 18 เดือน
หลังการก่อสร้างทางเชื่อมต่อระหว่างโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ กับทางพิเศษศรีรัชด้านทิศเหนือแล้ว ประเมินว่าจะทำให้ปริมาณการจราจรบนทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ เพิ่มขึ้นอีก 2,600 คันต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 1.77% จากปัจจุบันอยู่ที่ 50,000 คันต่อวัน และจะต้องนำตัวเลขดังกล่าวไปคำนวณผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ กทพ. ได้รับส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้นด้วย
นายอาคม กล่าวต่อว่า ในวงเงิน 275 ล้านบาท จะแบ่งเป็นงานก่อสร้างทางเชื่อมต่อระหว่างทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ เข้าสู่ทางพิเศษศรีรัช จำนวน 155 ล้านบาท ส่วนอีก 120 ล้านบาทที่เหลือนั้น BEM จะต้องสำรองจ่ายก่อนเพื่อก่อสร้างจุดเชื่อมต่อจากทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ เข้าสู่ทางยกระดับดอนเมือง (ดอนเมืองโทลล์เวย์) หรือ มิสซิ่งลิงก์ทางพิเศษ โดย BEM จะเป็นผู้ก่อสร้างจุดเชื่อมต่อรอไว้ก่อน เพราะหากไม่ดำเนินการวางตอม่อไว้ล่วงหน้าจะกระทบต่องานก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต เพราะใช้พื้นที่เดียวกัน
สำหรับความคืบหน้ามิสซิ่งลิงก์ทางพิเศษ ล่าสุดสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด และจะนำส่งที่กระชุมคณะกรรมการจัดการจราจรทางบก (คจร.) วันพรุ่งนี้ (29 มิ.ย.) ก่อนจัดหาผู้รับงานก่อสร้าง ซึ่งเป็นไปได้ทั้งการเปิดประกวดราคา หรือจ้างผู้รับงานรายเดิม คือ BEM เพราะช่วงมิสซิ่งลิงก์ มีระยะทางสั้นแค่ 2 กิโลเมตร (กม.) เท่านั้น โดยผู้รับงานมิสซิ่งลิงก์จะต้องนำเงินมาใช้คืน BEM ที่สำรองจ่ายไปก่อน 120 ล้านบาทด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันผู้ใช้ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ จากฝั่งธนบุรี ที่จะมุ่งหน้าไปยังแจ้งวัฒนะ-บางปะอิน ยังไม่สามารถเดินทางเชื่อมต่อได้อย่างสะดวก โดยต้องลงที่ด่านพระราม 6 แล้ววิ่งบนถนนประชาราษฎร์ เพื่อขึ้นทางพิเศษไปยังบางปะอิน-ปากเกร็ด ที่ด่านประชาชื่น เพราะทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ จะรับรถจากฝั่งธนบุรีวิ่งเข้าสู่เมือง และรับรถจากทางพิเศษศรีรัชไปฝั่งธนบุรีเท่านั้น ดังนั้นการสร้างทางเชื่อมต่อดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ใช้ทางพิเศษได้รับความสะดวกมากขึ้น